ข้อบังคับสมาคมศิษย์เก่าคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ข้อบังคับ
สมาคมศิษย์เก่าคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
หมวดที่ 1 ความทั่วไป
ข้อ 1 สมาคมนี้ชื่อว่า "สมาคมศิษย์เก่าคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์" ใช้อักษรย่อว่า "ส.พ.มอ." เรียกชื่อภาษาอังกฤษว่า "Prince of Songkla University Medical Alumni Association" ใช้อักษรย่อว่า "PSU.MAA"
ข้อ 2 เครื่องหมายของสมาคม มีตรามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และข้อความว่า "สมาคมศิษย์เก่า คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์" อยู่รอบตรามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ข้อ 3 สำนักงานของสมาคมตั้งอยู่ ณ อาคารแพทยศาสตรศึกษาราชนครินทร์ ชั้น 2 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา รหัสไปรษณีย์ 90110
ข้อ 4 สมาคมมีวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้
4.1 เสริมสร้างความสามัคคีและความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสมาชิก
4.2 ผดุงเกียรติของสมาชิก
4.3 เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นทางวิชาการระหว่างสมาชิก
4.4 ส่งเสริมสวัสดิการของสมาชิก
4.5 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกิจการและกิจกรรมนักศึกษาของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
4.6 เพื่อบำเพ็ญสาธารณประโยชน์แก่สังคม
หมวด 2 สมาชิก
ข้อ 5 สมาชิกของสมาคมมี 3 ประเภท คือ
5.1 สมาชิกสามัญ ได้แก่
ก. ศิษย์เก่าคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ข. อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ค. แพทย์ที่ทำงานหรือเคยทำงานในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์มาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี
5.2 สมาชิกวิสามัญ ได้แก่ ผู้สนใจทั่วไปหรือบุคลากรในคณะแพทยศาสตร์ ที่ขอสมัครเป็นสมาชิกและคณะกรรมการบริหารรับรอง
5.3 สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ ผู้ทรงเกียรติคุณ หรือผู้ที่ให้ความอุปการะคุณแก่สมาคม ซึ่งคณะกรรมการบริหารของสมาคม มีมติให้เชิญเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์
ข้อ 6 สมาชิกสามัญและสมาชิกวิสามัญ สามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกตอลดชีพได้โดยต้องลงทะเบียนและไม่ต้องเสียค่าบำรุง
ข้อ 7 สมาชิกกิตติมศักดิ์ เป็นสมาชิกตลอดชีพโดยไม่ต้องเสียค่าบำรุง
ข้อ 8 คุณสมบัติของสมาชิกประกอบด้วย
8.1 เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย
8.2 ไม่เป็นโรคที่สังคมรังเกียจ
8.3 ไม่ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย หรือไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือต้องโทษจำคุก ยกเว้นความผิดฐานประมาท หรือลหุโทษ การต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดในกรณีดังกล่าว จะต้องเป็นในขณะที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกหรือในระหว่างที่เป็นสมาชิกของสมาคมเท่านั้น
ข้อ 9 สามชิกภาพของสมาชิกให้สิ้นสุดลงด้วยเหตุดังต่อไปนี้
9.1 ตาย
9.2 ลาออก โดยยื่นหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการ และคณะกรรมการได้ พิจารณาอนุมัติ
9.3 ขาดคุณสมบัติสมาชิก
9.4 คณะกรรมการลงมติให้ลบชื่อออกจากทะเบียน ในกรณีที่สมาชิกผู้นั้น
9.4.1 กระทำความผิดถึงต้องรับโทษจำคุก โดยคำพิพากษาของศาลทั้งนี้ไม่รวมถึงความผิด ลหุโทษหรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท
9.4.2 ละเมิดระเบียบหรือข้อบังคับของสมาคมโดยเจตนาที่จะนำความเสื่อมเสียมาสู่สมาคม
ข้อ 10 สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก
10.1 สมาชิกมีสิทธิที่จะร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของสมาคม และใช้เข็มหรือเครื่องหมายประเภทต่างๆ ของสมาคมได้ แต่การออกเสียงเกี่ยวกับการบริหารงาน และการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารของสมาคม ให้เป็นสิทธิของสมาชิกสามัญเท่านั้น
10.2 สมาชิกมีสิทธิที่จะเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับกิจกรรมของสมาคมต่อคณะกรรมการบริหารได้
10.3 สมาชิกมีสิทธิขอต่อคณะกรรมการบริหารเพื่อตรวจเอกสาร บัญชีทรัพย์สินของสมาคมได้ในเวลาอันควร
10.4 สมาชิกมีหน้าที่ป้องกันรักษาเกียรติของสมาคมและไม่กระทำการใด ๆ อันจะนำมาซึ่งความเสียหายแก่มวลสมาชิกและสมาคม
หมวด 3 การดำเนินกิจการสมาคม
ข้อ 11 การดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของสมาคมให้อยู่ภายใต้การอำนวยการของคณะกรรมการบริหาร ซึ่งมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 10 คน และไม่เกิน 15 คน
ข้อ 12 ให้ที่ประชุมใหญ่เลือกนายกสมาคมฯ และคณะกรรมการบริหาร จำนวน 5 คน
ข้อ 13 ให้นายกมีสิทธิเลือกสมาชิกอื่นเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการบริหารจนครบจำนวน ตามข้อ 14
ข้อ 14 นายกสมาคม และคณะกรรมการบริหารต้องเป็นสมาชิกสามัญ โดยมีอำนาจในตำแหน่งและหน้าที่ในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของสมาคมโดยสังเขปดังต่อไปนี้
14.1 นายกสมาคม ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าในการบริหารกิจการของสมาคม เป็นผู้แทนสมาคมในการติดต่อกับบุคคลภายนอก และทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการและการประชุมใหญ่ของสมาคม
14.2 อุปนายก ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยนายกสมาคมในการบริหารกิจการสมาคม ปฏิบัติตามหน้าที่นายกสามาคมได้มอบหมายและทำหน้าที่แทนนายกสมาคมเมื่อนายกสมาคมไม่อยู่ หรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่การทำหน้าที่แทนนายกสมาคม ให้อุปนายกตามลำดับตำแหน่งเป็นผู้กระทำการแทน
14.3 เลขานุการ ทำหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการของสมาคมทั้งหมดเป็นหัวหน้า เจ้าหน้าที่ของสมาคมในการปฏิบัติกิจการของสมาคม และปฏิบัติตามคำสั่งของนายกสมาคม ตลอดจนทำหน้าที่เป็นเลขานุการในการประชุมต่าง ๆ ของสมาคม
14.4 เหรัญญิก มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินทั้งหมดของสมาคม เป็นผู้จัดทำบัญชีรายรับ รายจ่าย บัญชีงบดุลของสมาคมและเก็บเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ของสมาคมไว้เพื่อตรวจสอบ
14.5 ปฏิคม มีหน้าที่ในการให้การต้อนรับแขกของสมาคม เป็นหัวหน้าในการจัดเตรียมสถานที่ของสมาคม และจัดเตรียมสถานที่ประชุมต่าง ๆ ของสมาคม
14.6 นายทะเบียน มีหน้าที่เกี่ยวกับทะเบียนสมาชิกทั้งหมดของสมาคม ประสานงานกับเหรัญญิก
14.7 ประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่เผยแพร่กิจการและชื่อเสียงเกียรติคุณของสมาคมให้สมาชิกและบุคคลโดยทั่วไปให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย
14.8 กรรมการตำแหน่งอื่น ๆ ตามความเหมาะสม ซึ่งคณะกรรมการเห็นสมควรกำหนดให้มีขึ้น โดยมีจำนวนเมื่อรวมกับตำแหน่งกรรมการตามข้างต้นแล้ว จะต้องไม่เกินจำนวนที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้ แต่ถ้าคณะกรรมการมิได้กำหนดตำแหน่งก็ถือว่าเป็นกรรมการกลาง
ข้อ 15 คณะกรรมการบริหารอยู่ในตำแหน่งวาระ 2 ปี ถ้าตำแหน่งใดว่างเพราะเหตุอื่นนอกจากถึงคราวออกตามวาระ ให้คณะกรรมการบริหารเชิญสมาขิกผู้หนึ่งผู้ใดที่เห็นสมควรเข้าเป็นกรรมการบริหารแทนตามจำนวนที่ขาด แต่กรรมการที่เข้ามารับตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาของผู้ซึ่งตนแทนเท่านั้น
ข้อ 16 นายกสมาคมจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้ ไม่เกิน 2 วาระ
ข้อ 17 กรรมการบริหาร แต่ละคนย่อมพ้นจากตำแหน่งก่อนถึงวาระ เมื่อ
17.1 ตาย หรือ
17.2 ลาออก หรือ
17.3 ขาดจากสมาชิกภาพ
17.4 ที่ประชุมใหญ่มีมติให้ออกจากตำแหน่ง
ข้อ 18 การประชุมของคณะกรรมการ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการบริหารทั้งหมด
ข้อ 19 นอกจากนายกสมาคม คณะกรรมการบริหารจะต้องมี คณะกรรมการดำรงตำแหน่งอย่างน้อย คือ
19.1 อุปนายก
19.2 เลขาธิการ
19.3 เหรัญญิก
หมวด 4 การประชุมใหญ่
ข้อ 20 ให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ปีละ 1 ครั้ง
ข้อ 21 การประชุมใหญ่วิสามัญ อาจมีขึ้นเพื่อการใด ๆ ซึ่งคณะกรรมการบริหารเห็นสมควรหรือสมาชิกสามัญ ไม่น้อยกว่า 50 คน ร่วมกันยื่นคำร้องต่อนายกสมาคมในคำร้องต้องแสดงเหตุผล และระบุหัวข้อการประชุมด้วย และให้นายกสมาคมเรียกประชุมภายใน 30 วัน
ข้อ 22 ในการเรียกประชุมใหญ่สามัญ หรือวิสามัญ เลขาธิการต้องส่งคำบอกกล่าว นัดประชุมล่วงหน้าเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน เป็นลายลักษณ์อักษรให้สมาชิกทราบถึงกำหนดวัน เวลา สถานที่ และระเบียบวาระการประชุม
ข้อ 23 การประชุมใหญ่ทั้งปวง องค์ประชุมย่อมประกอบด้วยสมาชิกสามัญไม่น้อยกว่า 50 คน
ข้อ 24 ถ้าการประชุมครั้งใดไม่ครบองค์ประชุมให้คณะกรรมการกำหนดนัดประชุมใหญ่ ภายในเวลาที่เห็นสมควรและในการประชุมที่นัดใหม่นั้น มีสมาชิกมาประชุมมากน้อยเท่าใดก็ให้ถือเป็นองค์ประชุมได้
ข้อ 25 ให้นายกเป็นประธานแห่งที่ประชุม ถ้านายกไม่สามารถร่วมประชุมได้ให้อุปนายกเป็นประธานแทน ถ้าอุปนายกไม่สามารถร่วมประชุมได้ ให้ที่ประชุมเลือกสมาชิกสามัญ 1 คน ทำหน้าที่เป็นประธานแห่งที่ประชุม
ข้อ 26 การประชุมใหญ่ทางธุรการ สมาชิกสามัญเท่านั้นที่มีสิทธิเข้าร่วมประชุมได้
ข้อ 27 การแก้ไขข้อบังคับของสมาคม จะต้องกระทำโดยที่ประชุมใหญ่ และต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกที่มาประชุมเห็นชอบกับการแก้ไข
หมวด 5 การเงินและทรัพยสิน
ข้อ 28 ให้ที่ประชุมใหญ่เลือกผู้ตรวจสอบบัญชีของสมาคม 1 คน พร้อมกับการเลือกคณะกรรมการบริหาร จำนวน 10 คน
ข้อ 29 ให้คณะกรรมการบริหาร รับผิดชอบในทรัพย์สินและการเงินของสมาคม จัดให้มีบัญชีทรัพย์สิน และการเงินของสมาคมตามหลักการบัญชี ให้เป็นการถูกต้องและทันตามเวลาอยู่เสมอ
ข้อ 30 ให้เหรัญญิกมีอำนาจถือเงินสดไว้ได้ไม่เกิน 5,000.- บาท (ห้าพันบาทถ้วน) ส่วนเงินของสมาคมนอกจากจำนวนที่เหรัญญิกถือไว้ ต้องฝากธนาคารหรือสหกรณ์ออมทรัพย์ ที่คณะกรรมการเห็นสมควรในนามของสมาคม นายกหรืออุปนายกคนใดคนหนึ่ง ร่วมกับเหรัญญิกเป็นผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อในเช็คสั่งจ่ายไว้ในวงเงินไม่เกิน 250,000.- บาท (สองแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่านี้จะต้องได้รับอนุมัติ จากคณะกรรมการบริหาร
ข้อ 31 เงินของสมาคมนั้นจะนำไปลงทุนแสวงหาผลประโยชน์ได้เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริหาร
ข้อ 32 เหรัญญิกต้องทำบัญชีงบดุลประจำปี เสนอให้ที่ประชุมใหญ่พิจารณา
ข้อ 33 ถ้าในระหว่างปี ตำแหน่งผู้สอบบัญชีว่างลงด้วยเหตุใดก็ตาม ให้นายกสมาคมเรียกประชุมใหญ่วิสามัญ เพื่อเลือกผู้สอบบัญชีใหม่ แต่ถ้าจะต้องมีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีในระยะเวลาใกล้ชิดกันหรือเมื่อผู้สอบบัญชีได้ตรวจสอบและรับรองบัญชีงบดุลประจำปีเรียบร้อยแล้ว นายกสมาคมจะไม่เรียกประชุมใหญ่วิสามัญก็ได้
หมวด 6 การเลิกสมาคม
ข้อ 34 เว้นแต่โดยผลแห่งกฎหมาย สมาคมจะเลิกได้โดยสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกสามัญทั้งหมดลงมติให้เลิกสมาคม
ข้อ 35 ในกรณีเลิกสมาคมให้ทรัพย์สินทั้งสิ้น ซึ่งเหลือเมื่อชำระหนี้สินเรียบร้อยแล้วตกเป็นของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เพื่อประโยชน์ของคณะแพทยศาสตร์
หมวด 7 บทเฉพาะกาล
ข้อ 36 ข้อบังคับฉบับนี้นั้น ให้เริ่มใช้บัคงคับได้นับตั้งแต่วันที่สมาคมได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเป็นต้นไป
ข้อ 37 เมื่อสมาคมได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจากทางราชการ ก็ให้ถือว่าผู้เริ่มการทั้งหมดเป็นสมาชิกสามัญ
ลงชื่อ (นายแพทย์กอปรชุษณ์ ตยัคคานนท์) ผู้จัดทำข้อบังคับ